ลูกของฉันจำสิ่งที่ทำไปในวันนี้ไม่ได้เลย

ลูกของฉันจำสิ่งที่ทำไปในวันนี้ไม่ได้เลย

Q. ลูกไปโรงเรียนอนุบาลมาได้ 3 เดือนแล้ว บางครั้งเมื่อลูกกลับมาบ้านก็จะมีรูปถ่ายตอนทำกิจกรรมที่โรงเรียนมาอวด แต่เนื่องจากที่โรงเรียนอนุบาลไม่ได้ถ่ายภาพตอนทำกิจกรรมของลูกมาให้ดูทุกวัน ฉันเลยสงสัยว่าลูกมีความเป็นอยู่อย่างไรขณะที่อยู่ที่โรงเรียน ซึ่งลูกก็ไม่มีเรื่องราวอะไรมาเล่าให้ฉันฟังเลย พอลองถามไปว่าวันนี้ทำอะไรที่โรงเรียนบ้าง เขาก็จะทำท่านึกไม่ออกและบอกว่าไม่รู้ และเมื่อเซ้าซี้ถามมากเข้า เขาก็จะมีอาการหงุดหงิด จึงต้องรีบบอกขอโทษเขาไป ทั้งที่ใจจริงอยากจะฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับโรงเรียนอนุบาลจากปากของเขามาก

การฝึกฝนให้ ‘พูดถึงสิ่งที่จดจำได้’ เป็นเรื่องจำเป็น

A. การเล่าถึงเรื่องราวที่จดจำได้ตอนอยู่ที่โรงเรียนอาจเป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก เพราะเขาต้องพูดโดยฉุกคิดขึ้นมาถึง ‘ความทรงจำที่ระลึกได้’ และเป็นไปได้ที่เขาจะไม่สามารถจำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ถ้าสถานการณ์นั้นไม่ได้มีความพิเศษพอสำหรับเขา

ดังนั้น กิจกรรมหนึ่งที่โรงเรียนควรทำก็คือ ‘การส่งภาษา’ คุณครูควรพูดประโยคสั้น ๆ กับเด็ก เมื่อเด็กกลับบ้านให้นำคำพูดนี้ไปบอกกับแม่ และแม่ก็เขียนคำพูดที่ได้ยินจากลูกลงในสมุดบันทึกของโรงเรียน ให้ลูกนำกลับไปส่งอีกครั้ง ตอนที่ลูกฉันเข้าโรงเรียนอนุบาลครั้งแรกก็ให้คุณครูส่งภาษาที่เข้าใจง่ายกับลูก แล้วให้ลูกกลับมาบอกฉันที่บ้าน และเวลาที่ลูกบอกกับฉัน มันเป็นอะไรที่น่ารักมาก น่ารักจนบรรยายไม่ถูก แถมลูกยังจดจำคำนั้นได้ด้วย

ตัวอย่างคำสั้น ๆ ที่ลูกนำกลับมาบอก คือ “ฤดูใบไม้ผลิมาแล้ว !”

ฉันคิดว่า ‘การส่งภาษา’ คือการฝึกให้เด็ก ๆ มีทักษะในเรื่องความทรงจำที่ระลึกได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการจดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ของเด็ก ๆ อาจเป็นเรื่องยาก แต่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จากการฝึกฝน

การฝึกให้พูดถึงความทรงจำที่ระลึกได้

แม้แต่ผู้ใหญ่เอง เมื่อเวลาผ่านไปก็มีอาการหลงลืมในสิ่งที่ทำไปแล้ว หรือหลง ๆ ลืม ๆ เป็นบางครั้ง นับประสาอะไรกับเด็กน้อยที่พวกเขาจะจดจำอะไรไม่ค่อยได้ แล้วจะมีวิธีการช่วยให้เด็ก ๆ มีการจดจำที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง

วิธีการที่ง่ายที่สุด คือ หลังจากที่ทำกิจกรรมใด ๆ แล้วให้ชวนพูดคุยว่ารับประทานอะไรไป ทำอะไรบ้าง ถ้าถามว่า “วันนี้ตอนเที่ยงหนูกินอะไรจ้ะ” เด็กที่เพิ่งรับประทานอาหารเที่ยงไปก็จะตอบได้ทันทีว่าตนเองรับประทานอะไรไปบ้าง

แต่ความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งที่ทำไปในแต่ละวันของเด็ก ๆ สามารถหายไปได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนอนุบาล ถ้าไม่มีเรื่องที่สนุกหรือเรื่องที่ทำให้เสียใจเป็นพิเศษ เด็ก ๆ ก็จะไม่มีเรื่องราวให้จดจำ

ลองให้เด็ก ๆ เขาเล่า ‘เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไปก่อนหน้านี้ไม่นาน’ และขณะที่ใกล้จะเข้านอนในคืนวันหยุดสุดสัปดาห์ ลองให้เขาเล่าถึง ‘ความทรงจำที่ระลึกได้’ เนื่องจากคนเป็นแม่ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่โรงเรียนอนุบาล ดังนั้น เมื่อลูกจำเรื่องราวไม่ได้ แม่ก็จะไม่มีทางทราบข้อมูล แต่หากเป็นช่วงวันหยุดที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน แม่สามารถช่วยกระตุ้นความทรงจำของลูกได้

ถ้าได้ออกไปนอกบ้านหรือทำกิจกรรมที่พิเศษ เด็ก ๆ ก็จะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น ตกกลางคืน แม่ลองถามดูว่าวันนี้ไปทำอะไรมาบ้าง ลูกก็จะเล่าถึงเรื่องที่มีโอกาสได้ไปเที่ยวสวนสนุก ซึ่งเป็นไปได้ที่เขาจะจำได้หรือจำไม่ได้ สมมติ ถ้าเขาจำได้ เขาก็จะพูดคุยตอบโต้จนเป็นบทสนทนาระหว่างแม่และลูก

“ใช่แล้ว วันนี้เราไปสวนสนุกกันมา แล้วตอนอากาศร้อน ๆ เราทำอะไรบ้างกันนะ”

“เรากินไอศกรีมกันไงครับ”

สมมติถ้าลูกจดจำอะไรไม่ได้ แม่ลองให้พูดชี้นำไปก่อน “วันนี้เราไปเที่ยวสวนสนุกกันมาใช่ไหมครับ” ลูกน้อยก็จะค่อย ๆ นึกออก

ในทางกลับกัน เด็กบางคนค่อนข้างขี้อาย เคอะเขินที่จะพูด เป็นเด็กเงียบ ๆ ไม่ค่อยแสดงออกทางความรู้สึก กรณีนี้ผู้ปกครองจะต้องคอยสังเกตการแสดงออกทางสีหน้าและพฤติกรรม เพื่อรับรู้และความเข้าใจความรู้สึกของลูก

หากยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง อย่าเพิ่งวิตกกังวล เว้นเสียแต่ว่าถ้าลูกมีสีหน้าที่หม่นหมองและอารมณ์ไม่ดี ให้ลองสอบถาม ถ้าลูกไม่ยอมบอก ให้ลองไปสอบถามกับคุณครู เพื่อให้แน่ใจว่าลูกใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนอย่างปกติสุขดี

เกี่ยวกับผู้เขียน

* คอลัมนิสต์ ยูนนารา เป็นเวิร์กกิ้งมัมที่มากด้วยประสบการณ์จากการเลี้ยงดูบุตรสาว 2 คน มีความต้องการที่จะเป็นทั้งซุปเปอร์มัมและซุปเปอร์แดดดี้ สั่งสมประสบการณ์การเลี้ยงดูลูกด้วยการลองผิดลองถูกหลายอย่างร่วมกับผู้ปกครองคนอื่น ๆ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นนักวิจัยอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเป็นนักวิเคราะห์ทางด้านพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล (BCBA)

 

แหล่งที่มาของข้อมูล : http://www.ibabynews.com/news/articleView.html?idxno=75541

 

Recent Posts