ทำไมเด็ก ๆ ถึงดื้อและเอาแต่ใจ เด็กเหล่านี้คิดอะไรอยู่ แล้วจะมีวิธีรับมืออย่างไร

 

เคยเห็นเด็กที่เรียกร้องจะเอาของเล่นที่แผนกของเล่นกันบ่อย ๆ ใช่ไหม

เด็กที่เคยน่ารักเหมือนนางฟ้ากลายเป็นเด็กดื้อและเอาแต่ใจจนพ่อแม่เองยังตกใจ

ถ้าเด็กเริ่มเรียกร้องเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ แม้แต่พ่อแม่ที่เคยควบคุมสติได้ดีอยู่เสมอก็ยังต้องตกในที่นั่งลำบาก

เหตุใดเด็กจึงเรียกร้องและรบเร้า

ถ้าเด็กดื้อรั้นและเรียกร้องมากเกินไป พ่อแม่ย่อมเหนื่อยหน่ายและเกิดอารมณ์โกรธ

ในมุมมองของเด็ก พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องแสดงออกและควบคุมอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ในสถานการณ์ที่หลากหลายอย่างไร จึงแสดงออกมาโดยการรบเร้า ร้องไห้เสียงดัง และดื้อดึง

มาลองพิจารณาสาเหตุที่เด็กดื้อรั้นและช่างเรียกร้องกัน

1. เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเอง

โดยปกติหลังจากอายุสองปี เด็กจะเริ่มเรียกร้องและดื้อรั้น เด็กในวัยนี้อยู่ในวัยเรียนรู้ และเริ่มสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว

เด็กจะซึมซับสิ่งที่พ่อแม่ทำ ก่อนจะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง และอยากทำอะไรเอง ถ้าหากพ่อแม่ไม่สามารถทำให้ได้หรือเด็กไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ พวกเขาจะเริ่มรบเร้าและเรียกร้อง

ในขณะที่เด็กค่อย ๆ พัฒนาความเป็นตัวเอง เด็กจะตระหนักถึงตัวตน สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบได้อย่างชัดเจน และเริ่มดื้อ

2. เพื่อแสดงความไม่พอใจ

เด็กในช่วงอายุตั้งแต่ 2 ถึง 4 ปี ยังคงมีพัฒนาการทางภาษาที่ไม่สมบูรณ์ ไม่เพียงพอต่อการแสดงอารมณ์ของตนเองให้เหมาะสม

ในช่วงเวลานี้ เด็กจะดื้อและเรียกร้องเมื่อหิวข้าว เมื่อง่วงนอน และเมื่อเสียใจ เนื่องจากพวกเขายังไม่เชี่ยวชาญในการแสดงความไม่พอใจหรือแสดงออกเมื่ออารมณ์ไม่ดี

3. เคยดื้อรั้นแล้วได้ในสิ่งที่ต้องการ

เมื่อเด็กลงไปนอนบนพื้นในที่สาธารณะแล้วเริ่มเรียกร้อง การที่พ่อแม่ให้ในสิ่งที่เด็กต้องการ เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์เช่นนั้น

ย่อมทำให้เด็กเข้าใจไปว่า ‘การรบเร้าทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ’

4. มักดื้อรั้นเมื่อโกรธ

เด็กที่โกรธด้วยความไร้เดียงสาจริง ๆ จะเรียกร้องและดื้อรั้น

เมื่อเด็กถูกปฏิเสธในขณะที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง เด็กจะแสดงความผิดหวังด้วยความเกรี้ยวกราด

5. เด็กเป็นคนเอาใจยาก

สำหรับเด็กที่เจ้าอารมณ์หรือดื้อรั้น การชี้แนะสิ่งใหม่ ๆ หรือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้แก่เด็กกลุ่มนี้ไม่ง่ายเลย เพราะเด็กจะปรับตัวได้ยาก

หากคิดว่าเด็กค่อนข้างเอาใจยาก ผู้ปกครองควรช่วยจนลูกรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้และปรับตัวได้

วิธีรับมือกับเด็กดื้อ

1. ตั้งกฎระเบียบ

เนื่องจากในวัยนี้ เด็กจะนึกถึงตัวเองเป็นหลัก พวกเขายังขาดความสามารถในการเห็นอกเห็นใจหรือทำความเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น เด็กอยากเล่นสนุก จึงมักแย่งของเล่นกับเพื่อนหรือพี่น้อง โดยไม่รู้ว่านั่นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี

พ่อแม่จึงควรบอกให้เด็กเข้าใจอย่างชัดเจนว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ แทนที่จะลงโทษหรือห้ามปรามทุกสิ่งที่เด็กทำ และพ่อแม่ควรจะลงโทษในกรณีที่เด็กทำสิ่งที่ผิดเท่านั้น

2. ช่วยแก้ปัญหาความเครียดของเด็ก

เด็กเองก็เครียดได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ถ้าปฏิเสธความต้องการของเด็กทุกครั้ง ไม่ว่าจะเพราะต้องการปกป้องเด็กมากเกินไปหรือเพราะต้องการอบรมเชิงบีบบังคับ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เด็กเกิดความเครียดสะสม และแสดงออกมาเป็นความเกรี้ยวกราดได้

ควรช่วยปลดปล่อยพลังของเด็กอย่างเหมาะสม ด้วยการควบคุมเพียงสิ่งที่ไม่ปลอดภัย โดยไม่พูดคำว่า No อย่างไร้เงื่อนไข แต่ควรให้เด็กได้ลองทำสิ่งที่อยากทำ

3. ลองตั้งเงื่อนไขไทม์เอาท์

ไทม์เอาท์ คือ การให้เด็กได้ใช้เวลาบรรเทาความโกรธเพียงลำพังในบริเวณที่เป็นอิสระจากผู้อื่น และได้ทบทวนตัวเอง

ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มืดเกินไปหรือบริเวณที่เด็กชอบเป็นพิเศษ และไม่ควรใช้ไทม์เอาท์ไปกับทุกพฤติกรรมที่เด็กเรียกร้อง ไม่อย่างนั้น วิธีนี้จะไม่ได้ผล โดยควรตั้งเงื่อนไขไทม์เอาท์เมื่อเด็กมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่ไม่น่ารักจริง ๆ 

4. ใช้วิธีการเพิกเฉย

เมื่อเด็กดื้อหรือรบเร้าเรียกร้องบางอย่าง ให้หลบหลีกจากสถานการณ์นั้น แล้วเพิกเฉยเสีย

ถ้าเด็กรู้ว่าพ่อแม่ใจอ่อน พวกเขาจะร้องไห้งอแงยิ่งกว่าเดิม

เมื่อพ่อแม่ไม่ให้ความสนใจ  เด็กจะเรียนรู้ว่าเขาจะไม่ได้รับอะไรจากการดื้อรั้นนั้น นอกจากความนิ่งเฉยของพ่อกับแม่

เด็ก ๆ ดื้อและช่างเรียกร้อง เพราะพวกเขาอยู่ในช่วงกำลังเติบโต

ถ้ามองดูเด็ก ๆ ด้วยมุมมองของเด็ก จะช่วยให้เข้าใจจิตใจของพวกเขาได้มากขึ้น

การช่วยให้เด็กที่แสดงออกไม่เก่งเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้เป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

เด็กที่เริ่มรู้จักตัวเองและกำลังเติบโตขึ้นในทุก ๆ วัน จะเติบโตขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติจากการดื้อและเอาแต่ใจ

เมื่อเด็กแสดงอารมณ์ด้วยการลงไปร้องไห้งอแงกลางถนน พ่อแม่จะต้องคอยสอนให้เด็กรู้ว่าจะแสดงความรู้สึกอย่างไรให้ถูกต้อง

การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีได้นั้นไม่ใช่การทำให้เด็กรู้สึกถูกปฏิเสธ แต่จะต้องสอนให้เด็กเข้าใจวิธีการแสดงออกที่ถูกต้อง



เกี่ยวกับผู้เขียน

Jay นักเขียนหลักของเว็บไซต์การดูแลเด็ก https://themomstory.co.krโดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเด็กต่าง ๆ

ต้นฉบับ http://news.edupang.com/news/article.html?no=14553

Recent Posts