KingClass Academy รวมใจน้อมถวายความอาลัย

KingClass Academy รวมใจน้อมถวายความอาลัย

ดวงใจชาว KingClass Academy น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ผู้บริหาร KingClass Academy สำนักงานใหญ่ นำโดยคุณจินตนา พรรักษมณี กรรมการผู้จัดการ คุณสุพจน์ อารยะประยูร กรรมการบริหาร คณะผู้บริหารสถาบัน KingClass Academy จากทั่วประเทศ ร่วมถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร

พิธีการเริ่มด้วยการกล่าวคำถวายอาลัย โดยคุณจินตนา พรรักษมณี กรรมการผู้จัดการ คุณสุพจน์ อารยะประยูร กรรมการบริหาร ตัวแทนผู้บริหารสถาบัน KingClass Academy จากสาขาทั่วประเทศเป็นผู้กล่าวคำถวายความอาลัยความว่า

“แม้เดือนเพ็ญ เคลื่อนคล้อย ครบหกครา              ธ เสด็จ สู่ชั้นฟ้า มหาสวรรค์

น้ำตาราษฎร์ ยังหลั่งริน แม้นานวัน                        แต่ยิ้มสู้ ระลึกมั่น หมั่นทำดี

รอยพระบาท เป็นแบบอย่าง นำทางให้                 ก้าวย่างไป น้อมนำ ตามวิถี

คิดถึงสุข ส่วนรวม ก่อนชีวี                                      เท่าที่มี พอเพียง เลี่ยงเบียดเบียน

มุ่งสานต่อ ปณิธาน การศึกษา                                เพาะต้นกล้า เยาวชน รู้อ่านเขียน

แม้เหน็ดเหนื่อย ไม่คิดบ่น ทนพากเพียร                สอนนักเรียน เพื่อวันพรุ่ง รุ่งเรืองไทย

ธ ตรัสว่า จะครองแผ่น ดินโดยธรรม                      ทรงตรากตรำ เจ็ดสิบปี เหมือนว่าไว้

ขอถวายสัตย์ มิผิดคำ ย้ำด้วยใจ                            KingClass จัก ให้ความรู้ คู่คุณธรรม”

บรรยากาศความอาลัยจากผู้บริหาร คณะครู และพนักงาน KingClass Academy

จากนั้นผู้บริหาร คณะครู และพนักงาน KingClass Academy ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมตลอดช่วงเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานถึง 70 ปี โดยการขับร้องเพลงต้นไม้ของพ่อและเพลงผู้ปิดทองหลังพระ พร้อมได้น้อมจิตแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเวลา 1 นาที

KingClass Academy ในฐานะผู้ทำงานด้านการศึกษาได้ร่วมตั้งปณิธานในการที่จะมุ่งมั่นให้ความรู้อย่างรอบด้าน ควบคู่กับคุณธรรมอันจะเป็นรากฐานทางการศึกษาให้กับนักเรียน เพื่อสานต่อพระราชปณิธานในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าสืบไป ตามพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔ ความตอนหนึ่งว่า  “. . . ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้น ๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่าง ๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริง ๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้ . . .”

Recommended Posts