เคล็ดลับการท่องจำอย่างเร่งด่วน

ช่วงเวลาในการสอบปลายภาคของโรงเรียนในประเทศเกาหลีใต้อาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยปกติแล้วมักอยู่ในช่วงต้น-กลางเดือนธันวาคม นักเรียนจะต้องวางแผนเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสอบตั้งแต่เนิ่น ๆ และจะต้องทบทวนบทเรียนให้พร้อม จึงจะได้รับผลคะแนนตามที่มุ่งหวังไว้ การสอบยิ่งใกล้เข้ามามากเท่าไร ยิ่งแทบไม่เหลือเวลาในการเตรียมตัว เนื้อหาที่จะต้องสอบก็มีปริมาณมาก จนอาจทำให้กระวนกระวายได้ คนที่มีความสามารถในการท่องจำทุกสิ่งได้อย่างฉับไวจึงเป็นผู้ที่น่าอิจฉาที่สุดในช่วงเวลาเช่นนี้

ในการเรียน การท่องจำมีความสำคัญมากเท่า ๆ กับการเข้าใจแนวคิดสำคัญ แต่ในปัจจุบัน ผู้คนต่างก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาที่มุ่งเน้นความสามารถเชิงสร้างสรรค์ จนอาจละเลยการท่องจำที่มีมานาน ถ้าต้องการเรียนให้ได้ผลดี แน่นอนว่าทุกวิชาย่อมมีเนื้อหาที่จะต้องจดจำให้ได้ การจะจดจำสิ่งที่ท่องจำได้นานขึ้นนั้น ต้องเข้าใจความหมายของเนื้อหาที่เรียน และผ่านกระบวนการทางความคิดที่เชื่อมโยงเนื้อหาเหล่านั้นเข้ากับเนื้อหาอื่น ๆ ขั้นตอนเช่นนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

เมื่อต้องการทำข้อสอบให้ได้คะแนนดี การท่องจำเป็นสิ่งจำเป็น แม้จะมีการใช้สูตรต่าง ๆ แต่ในการสอบที่มีระยะเวลาจำกัด ย่อมไม่สามารถแก้โจทย์ได้โดยใช้สูตรทีละสูตร การท่องจำข้อมูลที่เหมาะสมอย่างรวดเร็วมีส่วนช่วยให้แก้โจทย์ได้แม่นยำขึ้นมาก ในบทความนี้จึงอยากนำเสนอวิธีการท่องจำที่จะช่วยนักเรียนทุกคนในการสอบครั้งต่อไป

 “เคล็ดลับการท่องจำอย่างเร่งด่วน…ที่เป็นวิธีการท่องจำที่ดีที่สุดคือการท่องจำซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ ครั้ง”

ถ้าต้องการจำศัพท์ภาษาอังกฤษให้ได้อย่างครบถ้วน จะต้องผ่านกระบวนการท่องจำซ้ำอีกหลังจากลืมไปแล้ว 7 ครั้ง การทบทวนบทเรียนซ้ำไปซ้ำมาหลาย ๆ ครั้ง ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการใช้เวลานาน ๆ พยายามท่องจำให้ได้ทั้งหมดในคราวเดียว เมื่อทบทวนบทเรียนสำหรับการสอบ หลายคนคงมีความคิดว่าอยากจะอ่านวิชาหนึ่งให้จบ แล้วจึงจะเริ่มอ่านอีกวิชาหนึ่ง และคงเคยมีประสบการณ์ที่ค่อย ๆ ลืมเนื้อหาของวิชาที่อ่านจบแล้วไปทีละน้อย ส่วนวิชาที่ยังไม่ได้อ่านก็มีเวลาไม่เพียงพอในการทบทวน ดังนั้น จึงควรเริ่มทบทวนบทเรียนก่อนการสอบประมาณหนึ่งเดือน โดยแบ่งเวลาสำหรับแต่ละวิชาให้ดี จนสามารถทบทวนบทเรียนทีละน้อย หลาย ๆ รอบได้ ในการวางแผนทบทวนบทเรียน การทบทวนวิชาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงสลับกันไปมา เช่น คณิตศาสตร์กับสังคม เป็นต้น จะทำให้ประสิทธิภาพในการทบทวนบทเรียนเพิ่มสูงขึ้น การเลือกวิชาที่จะอ่านเช่นนี้นับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องพิจารณาให้ดี

การท่องจำโดยไม่วางแผนหรือการจำอย่างลวก ๆ เป็นสิ่งต้องห้าม ควรหาวิธีการท่องจำอย่างมีหลักการ เคล็ดลับในการท่องจำมีอยู่มากมาย แต่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการจำโดยใช้การแต่งเรื่องเล่า (story telling) ในแบบของตัวเอง การท่องจำตามอักษรตัวแรกของคำศัพท์เป็นวิธีที่ใช้กันมากเมื่อต้องจำเนื้อหาในปริมาณมาก คุณครูในโรงเรียนและสถาบันต่าง ๆ นิยมสอนเคล็ดลับเช่นนี้ให้นักเรียนกันไม่น้อย วิธีการเช่นนี้มีประสิทธิภาพก็จริง แต่การแต่งเรื่องเล่าในแบบของตัวเองด้วยคำศัพท์ที่เรียนจะช่วยให้จำคำศัพท์ได้ง่ายกว่าการท่องตามตัวอักษรแรกของคำศัพท์เฉย ๆ การท่องจำไปโดยอัตโนมัติและไม่รู้ว่าจดจำเนื้อหาได้ครบทั้งหมดหรือไม่ นั่นถือว่านักเรียนได้ทบทวนบทเรียนเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น หลังจากทบทวนบทเรียนจบแล้ว นักเรียนควรเขียนเนื้อหาที่ทบทวนออกมาเป็นแผนที่ความคิด (Mind Map) เพื่อตรวจสอบว่าจดจำสิ่งใดไปบ้าง

ถ้าต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องทบทวนบทเรียนอย่างเร่งด่วนเช่นนี้จะต้องทำอย่างไร ในการทบทวนบทเรียนอย่างเร่งด่วนมีเคล็ดลับดี ๆ ที่ช่วยให้สามารถใช้เวลาท่องจำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อการสอบครั้งถัดไปมาถึง นักเรียนควรอ่านเนื้อหาที่จะต้องท่องจำก่อนเข้านอน วิธีที่ดีคือ

“อ่านเนื้อหาที่จำเป็นต้องคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งในตอนกลางวัน และทบทวนเนื้อหาที่จำเป็นต้องท่องจำในช่วงก่อนนอน”

นักเรียนควรอ่านเนื้อหาที่ต้องท่องจำก่อนนอนประมาณ 20-30 นาที และอ่านเนื้อหาเหล่านั้นผ่าน ๆ อีกครั้งเมื่อตื่นนอน วิธีการเช่นนี้จะช่วยขยายขีดความสามารถในการจดจำได้อย่างเต็มที่ จนสามารถนำไปใช้ในการสอบได้

บทความโดยปาร์คโซจอง (ผู้แต่ง ‘รวมวิธีการเรียนของนักเรียนมัธยมต้น’)
 http://www.hani.co.kr/arti/society/schooling/819925.html