สมุดบันทึกตารางเวลา (Learning Planner) ผู้ช่วยในการทบทวนบทเรียนอันทรงพลัง

สมุดบันทึกตารางเวลา (Learning Planner) ผู้ช่วยในการทบทวนบทเรียนอันทรงพลัง
สมุดบันทึกตารางเวลา (Learning Planner) ผู้ช่วยในการทบทวนบทเรียนอันทรงพลัง

หนึ่งคำถามที่ทุกคนที่กำลังจะเริ่มภาคการศึกษาใหม่นั้นเฝ้าสงสัยอยู่ คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า

‘ถ้าอยากเรียนเก่งจะต้องทำอย่างไร’

มีสติปัญญาที่ล้ำเลิศอย่างนั้นหรือ?

มีความตั้งใจไม่ท้อถอยหรือเปล่า?

หรือจะต้องติวส่วนตัวเยอะๆ ?

แน่นอนว่าสิ่งที่กล่าวมาถูกต้องทั้งหมด แต่คำตอบที่ถูกต้องยิ่งกว่าคือ

‘ความเคยชิน’

นักเรียนที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมคือคนที่ทบทวนบทเรียนในปริมาณคงที่ในเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอทุกวันจนเกิดความเคยชินนั่นเอง ดังนั้น ถ้าอยากเรียนเก่ง จะต้องอดทนฝึกฝนและทบทวนบทเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง

4 ขั้นตอนในการจัดทำสมุดบันทึกตารางเวลา (Learning Planner)

1. การวางแผนทุกๆ วัน ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกในการฝึกฝนและทบทวนบทเรียนให้เคยชินคือการวางแผนทุกๆ วัน ไม่ใช่การวางแผนเพียงเพื่อให้เกิดแผน แต่เป็นการวางแผนเพื่อนำไปปฏิบัติจริง มีข้อปฏิบัติอยู่สองสามประการ ก่อนอื่น จะต้องหา ‘เวลาว่าง’ ที่สามารถทบทวนบทเรียนให้ได้เสียก่อน  เวลาว่างในการทบทวนบทเรียนในที่นี้หมายถึงการทบทวนบทเรียนเพียงลำพัง ลองแบ่งเวลาอย่างละเอียดว่ามีเวลาในการทบทวนบทเรียนได้นานเท่าไรต่อวัน นอกเหนือจากการเรียนปรกติที่โรงเรียนและเรียนพิเศษ

2. ต้องแจกแจงความสามารถในการเรียนของตนเอง

ขั้นตอนต่อไปจะต้องแจกแจงความสามารถในการเรียนของตนเอง แต่ละบทเรียนย่อมแตกต่างกัน นักเรียนจะต้องพิจารณาดูว่าใน 1 ชั่วโมง นักเรียนสามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ได้ประมาณกี่ข้อ หรือภายใน 10 นาที นักเรียนสามารถท่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้กี่คำ เมื่อรู้สิ่งเหล่านี้แล้ว นักเรียนก็จะสามารถกำหนดเวลาในการทบทวนบทเรียนได้อย่างเหมาะสม เมื่อวางแผนการทบทวนบทเรียนที่จะช่วยให้นักเรียนก้าวข้ามตัวตนเก่าๆ ที่ทำได้เพียงแค่วาดหวังว่าจะเรียนเก่ง นักเรียนย่อมกลายเป็นคนใหม่ที่พัฒนาขึ้น แต่ทั้งนี้ ไม่จำเป็นจะต้องทำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัดจนเกินไป ถ้ารู้สึกเหนื่อยให้พัก

3. กำหนดเวลาในการทบทวนบทเรียน

สิ่งที่จะต้องทำเป็นขั้นต่อไปคือจัดลำดับความสำคัญของบทเรียน โดยกำหนดเวลาทบทวนบทเรียนและสิ่งที่จะต้องทบทวน แต่ละคนย่อมมีหัวข้อที่เรียนอ่อนแตกต่างกันไป ความสำคัญของแต่ละหัวข้อก็แตกต่างกัน จึงไม่สามารถใช้เวลาในการทบทวนทุกหัวข้อเท่ากันได้ โดยปกติแล้ว จะต้องให้เวลากับหัวข้อที่เรียนอ่อนที่สุดนานที่สุด และจะต้องมุ่งมั่นพยายามอย่างมาก แต่เนื่องจากมีตัวแปรหลากหลาย เช่น การสอบหรือกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงเรียน นักเรียนจึงควรจดสิ่งที่จะทบทวนในแต่ละวันและเรียงลำดับสิ่งที่จะต้องทำให้เสร็จก่อนเสมอ

สำหรับนักเรียนที่วางแผนการทบทวนบทเรียนอย่างดี แต่ยังคงกังวลใจกับสิ่งที่จะต้องลงมือทำจริง สมุดบันทึกตารางเวลาอันทรงพลังย่อมช่วยให้แผนการทบทวนบทเรียนเกิดขึ้นได้จริง สิ่งนี้มีชื่อว่า ‘สมุดบันทึกตารางเวลาทบทวนบทเรียน’ นั่นเอง สินค้าประเภทสมุดบันทึกตารางเวลาเช่นนี้มีอยู่มากมายหลายแบบ ในบางโรงเรียนอาจจะให้สมุดบันทึกตารางเวลาเรียนแก่นักเรียนอยู่แล้ว แต่สำหรับนักเรียนที่เป็นมือใหม่ในการใช้สมุดบันทึกตารางเวลา ควรจะเริ่มวางแผนสิ่งต่างๆอย่างละเอียด และใช้หัวข้อง่ายๆ ไม่ซับซ้อน อย่าง ‘สิ่งที่จะต้องทำวันนี้ – ตารางเวลา – ผลสัมฤทธิ์’ และหลีกเลี่ยงการใช้หัวข้อที่ซับซ้อนจนเกินไป

4. กำหนดปริมาณการทบทวนบทเรียนและจุดประสงค์การเรียนรู้ของบทเรียนในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์

การวางแผนทบทวนบทเรียนในระยะยาวจนเกินไปไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักเรียนประถมหรือมัธยมศึกษาตอนต้น จึงควรกำหนดปริมาณการทบทวนบทเรียนและจุดประสงค์การเรียนรู้ของบทเรียนในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์เสียก่อน จากนั้นจึงลองจดบันทึกสิ่งที่จะต้องทำในแต่ละวันเพิ่มเติม และให้ลองท่องลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆออกมา แล้วจึงแบ่งเวลาให้กับแต่ละสิ่งที่จะต้องทำ ถ้าหากวางแผนอัดแน่นเกินไป การทำสิ่งต่างๆย่อมรีบเร่ง แต่ถ้าวางแผนโดยเผื่อเวลามากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดความขี้เกียจได้ การจัดสรรเวลาอย่างลงตัวจึงเป็นเรื่องที่ยากไม่น้อย  อย่างไรก็ตาม นักเรียนไม่ควรวางแผนละเอียดถึงขั้นระบุเป็นนาที แต่จะควรจัดสรรเวลาให้เหมาะสม หากใช้สมุดบันทึกตารางเวลาเช่นนี้จนเคยชิน เริ่มมีแนวทางในการทบทวนบทเรียนของตนเอง และสามารถวางแผนจัดสรรเวลาได้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น ย่อมเป็นเรื่องดี ขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นสิ่งสำคัญคือการให้คะแนนหรือบอกผลสัมฤทธิ์หลังจากทำสิ่งต่างๆที่วางแผนไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ก่อนนอน ให้นำสมุดบันทึกตารางเวลาออกมาดู และให้คะแนนแผนการแต่ละขั้นตอน โดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนในแบบฉบับของตนเอง ถ้าวางแผนได้ดี อย่าลืมให้คะแนนและชมเชยตนเอง แต่ถ้าการวางแผนยังไม่สมบูรณ์พอจะต้องหาสิ่งที่เป็นปัญหาและแก้ไขโดยเร็ว การวางแผนทบทวนบทเรียนโดยใช้สมุดบันทึกตารางเวลาอันทรงพลังเช่นนี้ ทำให้การเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเรียนอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

สมุดบันทึกตารางเวลา (Learning Planner) ผู้ช่วยในการทบทวนบทเรียนอันทรงพลัง

ที่มา: สมุดบันทึกตารางเวลา ผู้ช่วยในการทบทวนบทเรียนอันทรงพลัง. ปาร์คโซจอง : สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน, 2560 จาก Hani: http://www.hani.co.kr/arti/society/schooling/785404.html

Recent Posts